พระปิดตาหลวงพ่อจุ่น ฐานิสฺสโร วัดเขาสะพายแร้ง กาญจนบุรี
พระปิดตาเนื้อทองผสม หลวงพ่อจุ่น ฐานิสฺสโร วัดเขาสะพายแร้ง
โดย...ช. พิมลราช (นามปากกาของ ชายนำ ภาววิมล) ...
หลังจากที่หนังสือ "๘๐ ยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล" ได้วางตลาดอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๒ ที่ผ่านมานี้ ปรากฏว่าได้รับการตอบสนองจากนักนิยมพระเครื่องอาวุโสเป็นอย่างดี คำติชมที่ได้รับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนมีกำลังใจและเกิดความมุ่งมั่นที่จะสรรค์สร้างงานที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่มีอุปสรรคมาขวางกั้น ในกลางปีหน้า "หนังสือ ๘๐ ยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล" เล่มที่ ๒ และเล่มต่อ ๆ ไป ก็คงได้ตีพิมพ์ออกมาสู่สายตาของนักนิยมพระปิดตาทั้งหลายอย่างต่อเนื่อง นักนิยมพระเครื่องหลายท่านได้วิพากษ์วิจารณ์ว่า หนังสือ "๘๐ ยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล" มีแต่พระปิดตารุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยมีค่านิยมที่สามารถวัดกันด้วยเม็ดเงินจำนวนมากเหมือนดั่งพระปิดตายุคเก่าที่วงการนิยมเล่นหากันเป็นสากล ถ้าจะอธิบายถึงเหตุและผลในการจัดทำหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนรู้อยู่เต็มอกว่าความคิดริเริ่มในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพระเครื่องรุ่นใหม่ที่มีอายุการสร้างไม่เกิน ๔ - ๕๐ ปี ต่อให้สมบูรณ์เพียงใดก็ไม่อาจหลีกพ้นคำวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพระใหม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ชื่อหนังสือก็ระบุชี้ชัดว่าเป็นพระปิดตาที่มีอายุการสร้างไม่เกิน ๔๐ ปี
ในเชิงของการตลาด การทำหนังสือพระปิดตารุ่นใหม่ที่มีคุณภาพเทียบเท่าหนังสือวิชาการทั่วไปนั้น ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการหนังสือพระเครื่องต่างก็รู้ดีว่าความเสี่ยงก็มีมากเหลือหลาย อย่าคิดถึงกำไรเลย ได้ทุนคืนก็บุญโขแล้ว อย่าว่าแต่นักนิยมพระเครื่องเลย เจ้าของบริษัทที่รับออกแบบและจัดรูปเล่มให้ ได้พูดเปรย ๆ กับทางโรงพิมพ์ว่า "สงสัยพี่เขาจะบ้า ว่ะ เป็นผมไม่ทำอย่างนี้หรอก เสี่ยงมาก" ก็จริงอย่างที่เขาว่า แต่ถ้าเราตั้งใจจะทำอะไรสักอย่าง แล้วเอาเรื่องต้นทุนและตัวเงินที่ได้รับมาใช้ประกอบในการตัดสินใจ คุณภาพของงานและการยอมรับจากสังคมรอบข้าง คงจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน เงินจำนวน ๔๐๐ บาทในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างทุกวันนี้ แม้ว่าจะไม่มากนัก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะควักออกมาใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายเพราะบทเรียนนี้เจ็บปวดจนยากที่คนเดินดินกินข้าวแกงอย่างพวกเราจะลืมได้ง่าย ๆ ถ้าเป็นนักนิยมพระเครื่องรุ่นกระเตาะหรือน้องใหม่ที่เพิ่งย่างก้าวเข้ามาสู่วงการนี้ เงิน ๔๐๐ บาทที่แลกกับหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนเชื่อมั่นเกินร้อยว่าประโยชน์ที่จะได้รับนั้น คุ้มค่าและไม่หนังสือพระเครื่องเล่มใดริเริ่มทำแบบนี้มาก่อน
นอกจากภาพที่คมชัดสวยงาม ขนาดมวลสารลอยเด่นให้เห็นกันแบบจะจะ สีขององค์พระใกล้เคียงกับของจริงมากที่สุด ข้อมูลที่เรียบเรียงขึ้นมา ก็มีความสมบูรณ์รณ์เพียงพอที่จะใช้เป็นหนังสืออ้างอิงได้ เพราะศึกษาค้นคว้าจากหนังสือพระเครื่องเก่า ๆ นับพันเล่ม และได้สออบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างและ/หรือผู้ที่รู้ข้อมูลแบบเจาะลึกกว่ายี่สิบท่าน ที่สำคัญก็คือการนำพระแท้มาถ่ายรูปและใช้ศึกษาวิเคราะห์ประกอบการบรรยายลักษณะพระปิดตาแต่ละพิมพ์ จุดเด่นที่กล่าวมานี้เป็นหลักประกันที่ท่านผู้อ่านหลายท่านพูดตรงกันว่า ถ้าอ่านด้วยความตั้งใจ อ่านแบบจับใจความ นำพระปิดตาพิมพ์ใดพิมพ์หนึ่งที่มีอยู่หรือพอจะหาได้มาพิจารณาประกอบตามที่บรรยายในหนังสือเล่มนี้ จะทำให้นักนิยมพระเครื่องรุ่นใหม่ที่ไม่เคยมีผู้ชี้แนะมาก่อน สามารถเรียนรู้และเข้าใจพระปิดตา ทั้งยังเป็นแนวทางในการเล่นหาสะสมพระเครื่องทั่วไปได้เป็นอย่างดี
ผลกระทบทางอ้อมที่เกิดขึ้นจากการทำหนังสือ "๘๐ ยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล" ทำให้พระปิดตาที่สร้างขึ้นหลังปี ๒๕๐๐ ออกมาสู่สายตาของนักนิยมพระเครื่องรุ่นใหม่มากขึ้น แผงพระหลายแห่งนำหนังสือเล่มนี้มาใช้อ้างอิงประกอบการซื้อขายพระปิดตากันอย่างเผยเผย สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แม้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของวงการพระเครื่อง แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อนักนิยมพระเครื่องรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น ถ้าเล่นหาพระเครื่องด้วยระบบข้อมูล ใช้เหตุผลในการพิจารณาไตร่ตรองและตัดสินใจเลือกเก็บสะสมพระเครื่องตามที่เราชอบ นอกจากจะหลีกพ้นจากผู้ที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบแล้ว ท่านก็จะเป็นอีกคนหนึ่งที่สามารถยืนหยัดในวงการนี้ได้อย่างสง่าผ่าเผย
ในการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระปิดตาที่น่าสนใจในนิตยสารพระเครื่องร่มโพธิ์ฉบับนี้ ผู้เขียนจะนำท่านไปรู้จักกับพระปิดตาเนื้อโลหะของพระเกจิอาจารย์เมืองขุนแผนอีกพิมพ์หนึ่ง พระปิดตาที่ว่านี้ก็คือ "พระปิดตาเนื้อทองผสมของหลวงพ่อจุ่น ฐานิสฺสโร หรือ พระครูสมณธรรมนิวิฐ อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาสะพายแร้ง ต.สนามแย้ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี" หลวงพ่อจุ่น ฐานิสฺสโร เป็นพระเจิอาจารย์ผู้สืบสายพุทธาคมของหลวงปู่แก้ว วัดดอนทราย อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี, หลวงพ่อฟุ้ง วัดโพธิ์ จ.พระนครศรีอยุธยา นอกจากนั้น ยังได้รับความรู้เพิ่มเติมจากหลวงพ่อเปลี่ยน อินฺทสโร วัดไชยชุมพล จ.กาญจนบุรี. ตะกรุดโทนและจะกรุดเมตตามหานิยมของหลวงพ่อจุ่น ฐานิสฺสโร จัดเป็นวัตถุมงคลที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณโดดเด่นในท้องถิ่น เล่าสืบต่อกันมาว่าเมื่อท่านลงอักขระเลขยันต์เสร็จแล้ว ท่านจะนั่งบริกรรมภาวนาจนแผ่นยันต์ม้วนเข้าหากัน เสร็จแล้วนำไปแช่น้ำมนต์อีกครั้งหนึ่ง แล้วนั่งภาวนาบริกรรมจนตะกรุดเมตตามหานิยมลอยขึ้นมา หากตะกรุดดอกใดไม่ลอยขึ้นมาถือว่าใช้ไม่ได้ ต้องบริกรรมต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะลอยขึ้นมา
พระปิดตาเนื้อทองผสม เป็นพระปิดตาที่หลวงพ่อจุ่น ฐานิสฺสโร อนุญาตให้คณะศิษย์ฯ จัดสร้างขึ้นเพื่อหาปัจจัยสมทบทุนสร้างถาวรวัตถุภายในวัดเขาสะพายแร้ง พระปิดตาชุดนี้ มี ๓ พิมพ์ด้วยกันคือ ใหญ่, กลาง, และเล็ก เดิมทีพระปิดตาชุดนี้ ไม่มีการจารที่ใต้ฐานองค์พระ แต่มีนักนิยมพระเครื่องกลุ่มหนึ่งขึ้นไปเหมาและขอให้ท่านช่วยจารให้กรณีพิเศษ จากนั้นได้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าพระปิดตาชุดนี้ต้องมีการจารทุกองค์ ทำให้เกิดความสับสน กระแสความนิยมในพระปิดตาชุดนี้ที่มีแนวโน้มว่ากำลังจะไปได้ด้วยดี จึงได้ชะลอตัวไปโดยปริยาย
ลักษณะ เป็นพระปิดตามหาลาภปางสมาธิราบแบบลอยองค์ที่สร้างขึ้นโดยการล้อแบบพระปิดตาหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว พระปิดตาชุดนี้สร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีแบบโบราณประเภทเทมือเบ้าปูน ด้านหน้าประทับด้วยยันต์นะคุ้ม ด้านหลังเป็นยันต์ประจำของหลวงพ่อจุ่น ฐานิสฺสโร ลักษณะของเส้นยันต์เป็นแบบเส้นขนมจีน
ขนาด พิมพ์ใหญ่ ฐานกว้าง ๑.๓๕ เซนติเมตร สูง ๑.๘๐ เซนติเมตร
พิมพ์กลาง ฐานกว้าง ๑.๒๐ เซนติเมตร สูง ๑.๖๕ เซนติเมตร
พิมพ์เล็ก ฐานกว้าง ๑.๐ เซนติเมตร สูง ๑.๒๕ เซนติเมตร
เนื้อหา ทองผสม
วรรณะ กระแสออกสีเหลืองอมเขียว
มวลสารที่ใช้ในการสร้าง เศษแร่พระปิดตามหาอุตม์ยันต์ยุ่งหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก, ชนวนพระกริ่งอรหัง/พระชัยวัฒน์หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก, ชนวนเหรียญหล่อพระปฐมเจดีย์ใบมะยม, แผ่นยันต์หลวงพ่อจุ่น ฐานิสฺสโร ๓ แผ่น, เหรียญหลวงพ่อจุ่น ฐานิสฺสโร รุ่นแรก.
จำนวนการสร้าง ๑,๓๗๐ องค์ แยกเป็นพิมพ์ใหญ่ ๕๐๐ กว่าองค์, พิมพ์กลาง ๓๐๐ กว่าองค์, พิมพ์เล็ก ๕๐๐ กว่าองค์
ปีที่สร้าง พ.ศ. ๒๕๒๖
พิธีกรรม หลวงพ่อจุ่น ฐานิสฺสโร อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยววันเสาร์ตลอดไตรมาสปี ๒๕๒๖
พลานุภาพ เมตตามหานิยมและโชคลาภ
ค่านิยม เป็นพระปิดตาที่นิยมเล่นหากันในหมู่ลูกศิษย์ สนนราคาเช่าหาอยู่ที่หลักร้อยกลาง ๆ ขึ้นไป (ปี ๒๕๔๒)
อนาคต หลวงพ่อจุ่น ฐานิสฺสโร เป็นพระเกจิอาจารย์ในระดับท้องถิ่นที่ยังไม่มีการนำชื่อเสียงเกียรติคุณและประวัติการสร้างวัตถุมงคลของท่านมานำเสนอในนิตยสารพระเครื่องระดับแนวหน้าของวงการพระเครื่องในยุคสมัยนี้ ประกอบด้วยหลวงพ่อจุ่น ฐานิสฺสโร ได้มรณภาพไปนานหลายปีแล้ว โอกาสที่จะไต่ระดับขึ้นมาเป็นพระปิดตาที่นิยมเล่นหากันในวงกว้าง คงจะต้องใช้เวลาและมีแรงหนุนจากศิษย์สายตรงและคนในท้องถิ่นมากพอสมควร แต่ถ้าท่านเป็นนักนิยมพระเครื่องประเภทของดีราคาถูกและเป็นผู้ที่นิยมชมชอบศิลปะของพระปิดตาเมืองกาญจนบุรี พระปิดตาเนื้อทองผสมของหลวงพ่อจุ่น ฐานุสฺสโร ก็เป็นพระปิดตาอีกสำนักหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม สนนราคาค่านิยมในอนาคตน่าจะปรับตัวขึ้นไปถึงหลักร้อยแก่ ๆ
บทความเก่าจากนิตยสารพระเครื่องร่มโพธิ์ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๓ (๑๐๖) ตุลาคม ๒๕๔๒ หน้า ๖ - ๗